วิ่งระยะสั้น
จนถึงเส้นชัยสำหรับการแข่งขันกรีฑานักเรียนในประเทศไทย อาจมีการเพิ่มรายการวิ่งระยะทาง 60 เมตร และ 80 เมตรเข้าไปด้วย เพื่อให้นักกรีฑาในรุ่นเล็กได้มีโอกาสร่วมแข่งขัน เนื่องจากการแข่งขันวิ่งระยะสั้นทุกประเภทมีความสำคัญ และให้ความตื่นเต้นสนุกสนานนอกจากนักกรีฑาจะต้องมีความเร็วตามธรรมชาติเป็นทุนเดิมแล้ว การปฏิบัติให้ถูกต้องตามเทคนิคก็มีส่วนช่วยให้บรรลุผลตามความมุ่งหมายยิ่งขึ้น
จึงได้มีการศึกษาค้นความว่าทำอย่างไรจึงจะวิ่งได้เร็วที่สุด ดังนั้นทักษะและเทคนิคจึงเป็นกุญแจไขปัญหาให้พบคำตอบที่ถูกต้อง และเชื่อว่ามีส่วนทำให้พบความสำเร็จได้ตามความสามารถของนักกรีฑาแต่ละคน เทคนิคในการวิ่งระยะสั้นมีดังนี้
1.1) ท่าตั้งต้นก่อนออกวิ่ง การวิ่งระยะสั้นทุกประเภท การตั้งต้นก่อนออกวิ่งสำคัญที่สุด เพราะการแพ้หรือชนะอยู่ที่การเริ่มออกวิ่งว่าดีหรือไม่ ท่าตั้งต้นก่อนออกวิ่งที่ดี คือ ท่าที่สามารถช่วยให้ออกวิ่งได้เร็วที่สุด มีแรงส่งตัวไปข้างหน้ามากที่สุดและเสียเวลาน้อยที่สุด ท่าตั้งต้นก่อนออกวิ่งทั้งนักกรีฑาและผู้เชี่ยวชาญได้คิดค้นทดลองใช้กันมีหลายแบบหลายวิธีปรากฎว่าวิธีตั้งต้นด้วยการย่อตัวลงนั่งให้มือทั้งสองยันพื้น เป็นวิธีที่ดีที่สุด
เพื่อให้การออกวิ่งก้าวแรกมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ในขณะที่ถีบตัวออก เท้าไม่เลื่อนถอยหลัง เพราะฉะนั้นควรมีที่ยันเท้า
ที่ยันเท้าเริ่มวิ่ง (Starting block) ใช้สำหรับการแข่งขันวิ่งทุกประเภท ในระยะทางไม่เกิน
400 เมตร ( รวมทั้งวิ่งผลัดไม้แรก 4 x 400 เมตร ) แต่ต้องไม่ใช้กับการแข่งขันวิ่งประเภทอื่น เมื่ออยู่ในลู่วิ่งส่วนหนึ่งส่วนใดของที่ยันเท้าต้องไม่ล้ำเข้าไปในเส้นเริ่มหรือยื่นเข้าไปใน ช่องวิ่งอื่น ที่ยันเท้าต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
ทำด้วยวัสดุที่แข็งแรง และไม่ก่อให้เกิดการได้เปรียบนักกรีฑาคนอื่น
ต้องยึดกับลู่วิ่งด้วยหมุดหรือตะปู ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลู่วิ่งน้อยที่สุด
รวมทั้งต้องง่ายในการติดตั้งและรวดเร็วต่อการเคลื่อนย้าย หรือถอดออก
ปัจจุบันที่ยันเท้าสำเร็จรูป เป็นอุปกรณ์ประจำตัวของนักกรีฑาวิ่งระยะสั้นที่นิยมใช้กันมาก ที่ยันเท้านี้เริ่มใช้มาตั้งแต่ พ. ศ. 2470 เพราะมีผลดีต่อการวิ่งมาก อีกทั้งสามารถปรับระยะหรือตำแหน่งของเท้าทั้งสองได้ตามความต้องการและรวดเร็ว ไม่ทำให้ลู่วิ่งเป็นหลุมเสียหาย ใช้ได้ทุกสภาพของสนาม
วิธีติดตั้งที่ยันเท้ากับพื้นสนาม ทำได้โดยวางที่ยันเท้าห่างจากเส้นเริ่มเข้ามา 2 ฝ่าเท้า ระยะห่างระหว่างที่ยันเท้าด้านหน้าและด้านหลังประมาณ 1 ฝ่าเท้า โดยที่ยันเท้าด้านหน้าจะเอนมากกว่าที่ยันเท้าด้านหลังเสมอ
1.2) เทคนิคในการออกตัว เมื่อได้ยินคำสั่ง "เข้าที่" จากผู้ปล่อยตัวนักกรีฑาต้องเดินไปยังบริเวณที่ตั้งต้นออกวิ่งใกล้เส้นเริ่ม แล้ววางมือทั้งสองลงบนทางวิ่ง มือทั้งสองห่างกันประมาณ 1 ช่วงไหล่ หรือกว้างกว่าช่วงไหล่เล็กน้อย กางนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ออกนิ้วอื่น ๆ ชิดกับนิ้วชี้ นิ้วหัวแม่มือและนิ้วทั้งสี่ยันพื้นรับน้ำหนักตัว และวางอยู่ในระดับเดียวกันหลังเส้นเริ่มเกือบจรดเส้นเริ่ม นิ้วมือเกร็งขึ้น แขนทั้งสองเหยียดตึงไม่งอข้อศอก วางเข่าของเท้าหลังที่พื้น
เมื่อได้ยินคำสั่งว่า "ระวัง" ให้ยกก้นสูงกว่าไหล่เล็กน้อย โดยเฉลี่ยน้ำหนักตัวให้ลงสู่แขนแนวไหล่จะเลยมือไปข้างหน้าเล็กน้อย หรือแขนตั้งฉากกับพื้น ยกศีรษะขึ้นเล็กน้อยในลักษณะสบาย สายตามองไปข้างหน้าไม่ไกลจากตัวมากนักประมาณ 1 - 3 เมตร สูดหายใจเข้าและกลั้นไว้ ขณะยกก้นขึ้นตั้งสมาธิให้แน่วแน่และนิ่ง หูคอยฟังเสียงปืน
1.3) เทคนิคในการเริ่ม ออกวิ่ง เมื่อเสียงปืนดัง "ปัง" ให้ถีบเท้าส่งไปข้างหน้าด้วยเท้าหน้าพร้อมกับยกมือทั้งสองขึ้นจากพื้น ยกมือข้างตรงข้ามกับเท้าหลังในลักษณะงอศอก นิ้วมืออยู่ระดับหน้าผากกำมือหลวม ๆ ส่วนมือตรงข้ามกระตุกอย่างแรงไปข้างหลังให้เลยสะโพกขึ้นไปเล็กน้อยคล้ายตีศอกหลังลำตัวเอนพุ่งไปข้างหน้าด้วยแรงถีบส่งของเท้า พร้อมกับก้าวเท้าหลังไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ทั้งเข่าและสะโพกเหยียดตึงในจังหวะสุดท้ายของการถีบส่งเท้า
1.4) ท่าทางการเริ่มออกวิ่ง
ถีบเท้าส่งไปข้างหน้าด้วยเท้าหน้า พร้อมกับยกมือทั้งสองขึ้น
ก้าวเท้าหลังไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
ทั้งเข่าและสะโพกเหยียดตึงในจังหวะสุดท้ายของการถีบเท้าส่ง
ถีบเท้าส่งจากพื้นอย่างรวดเร็วและเต็มพลัง
โน้มตัวไปข้างหน้า
ลำตัวตั้งขึ้นอย่างช้า
ขณะที่เร่งความเร็วขึ้น มุมของการวิ่งจะสูงขึ้นทีละน้อย ลำตัวจะเอนไปข้างหน้าทำมุมกับพื้นประมาณ 75-80 องศา การก้าวขาต้องยกเข่าสูง ขาท่อนบนเกือบขนานกับพื้น วิ่งด้วยปลายเท้าเส้นตรงขนานไปข้างหน้า ไม่แบะเข่า แขนงอเป็นมุมฉาก กำมือหลวม ๆ แกว่งมือลงต่ำสุดที่ระดับสะโพกศรีษะไม่ส่ายไปมาหรือเงยหน้าขึ้นบน วิ่งให้เป็นเส้นตรง ขณะก้าวขาต้องกระตุกเข่าไปข้างหน้า และไม่เหวี่ยงส้นเท้าขึ้นข้างหลังจนเกินไป
ที่มา http://www.tuifino.com/Athletics/page%202.htm
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น