การวิ่งระยะไกล
การวิ่งทางไกล หรือ การวิ่งทน เป็นการวิ่งอย่างต่อเนื่องเป็นระยะทางอย่างน้อย 5 กิโลเมตร (3.1 ไมล์) ตามสรีรวิทยาแล้ว นับว่าเป็นการออกกำลังแบบแอโรบิกตามธรรมชาติและต้องใช้ความอดทน[1]
ในหมู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม มนุษย์ รวมถึงสัตว์ในอันดับวานร สามารถปรับตัวเพื่อวิ่งระยะทางไกลได้ดี สมมุติฐานการวิ่งทนเสนอไว้ว่าสัตว์สกุล โฮโม วิ่งทนเพราะการเดินทางข้ามพื้นที่กว้างใหญ่เพิ่มโอกาสในการไล่ล่า และยังสามารถล่าต่อเนื่องได้อีกด้วย[2] การวิ่งทนยังพบในสัตว์กีบที่กำลังอพยพ และสัตว์กินเนื้อที่อาศัยบนพื้นดินบางประเภท เช่น หมา หมาป่า และไฮยีน่า[3]
ในสังคมมนุษย์รุ่นใหม่ มนุษย์มีหลายเหตุผลที่จะวิ่งทางไกล อาจทำไปเพื่อการออกกำลัง นันทนาการ การเดินทาง เหตุผลทางเศรษฐกิจ หรือเหตุผลทางวัฒนธรรม การวิ่งทางไกลสามารถช่วยปรับสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดให้ดีขึ้น[4] และยังช่วยทำให้สมรรถภาพร่างกายแบบแอโรบิกดีขึ้นโดยเป็นการเพิ่มกิจกรรมให้เอนไซม์และฮอร์โมน ซึ่งจะไปทำการกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อและหัวใจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น[5] บ่อยครั้ง ทั้งปัจจุบันและในอดีต ที่การวิ่งทางไกลจะถูกมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการผึกทหาร การวิ่งเป็นอาชีพพบมากที่สุดในส่วนของการกีฬา ถึงแม้ว่าในสมัยก่อนยุคอุตสาหกรรม ผู้ส่งสาส์นเดินเท้าก็วิ่งเพื่อส่งข้อมูลไปยังสถานที่ที่ห่างไกลเช่นเดียวกัน การวิ่งทางไกลยังเป็นรูปแบบของประเพณีหรือพิธีของชนเผ่าต่าง ๆ เช่น ชนเผ่า Hopi และ Tarahumara[6][7]
ในกรีฑา ได้มีการกำหนดให้การแข่งขันวิ่งทางไกลต้องวิ่งเป็นระยะ 3 กิโลเมตร (1.86 ไมล์) ขึ้นไป ปกติจะมีการวิ่งอยู่ 3 ประเภท คือ ลู่และลาน การวิ่งบนถนน และการวิ่งวิบาก ซึ่งแตกต่างตามลักษณะภูมิประเทศ ได้แก่ ลู่วิ่งราดยาง ถนน และสภาพตามธรรมชาติ ตามลำดับ โดยปกติการวิ่งแข่งบนลู่จะมีระยะทางตั้งแต่ 3,000 เมตร ถึง 10,000 เมตร (6.2 ไมล์) ส่วนการวิ่งวิบากจะแข่งในระยะทางตั้งแต่ 5 ถึง 12 กิโลเมตร (3 ถึง 7.5 ไมล์) ในขณะที่การวิ่งแข่งบนถนนอาจมีระยะทางได้ยาวขึ้นถึง 100 กิโลเมตร (60 ไมล์) หรือมากกว่า การวิ่งวิบากในมหาวิทยาลัยที่สหรัฐอเมริกา ผู้ชายมีจะวิ่งเป็นระยะทาง 8000 เมตร ส่วนผู้หญิงจะวิ่งเป็นระยะทาง 6000 เมตร รายการวิ่งในโอลิมปิกฤดูร้อนมีระยะทาง 5,000 เมตร 10,000 เมตร และยังมีประเภทมาราธอน (42.195 กิโลเมตร หรือ 26 ไมล์ 385 หลา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น